วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

การตรวจสอบอาคาร

การตรวจสอบอาคาร

นายชลอ ทองรักศรี

ตำแหน่ง วิศวกร สถานที่ทำงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

บทคัดย่อ
เนื่องจากอาคารหลายแห่งมีภาวะไม่ปลอดภัยต่อการใช้งานอาคาร โดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่มีผู้ใช้งานอาคารจำนวนมากในอดีตที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งานอาคารหลายต่อหลายครั้ง โดยสาเหตุหลักมาจากการขาดการตรวจสอบดูแลและขาดความเข้าใจในการแก้ไขปัญหา

บทนำ
การตรวจสอบตามกฎหมายจึงมุ่งเน้นที่ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งานอาคารเป็นหลักดังนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องมีผู้ตรวจสอบอาคาร ทำหน้าที่ในการตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลไทย ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรหรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก โดยจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง และเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการควบคุมอาคาร ซึ่งกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ แต่อีกหลายคนยังเข้าใจว่าการตรวจสอบอาคารคือการจับผิดการก่อสร้างอาคาร ซึ่งแท้จริงแล้วกฎหมายมุ่งเน้นที่การจัดให้มีการสำรวจตรวจตราเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร โดยเฉพาะมุ่งเน้นไปที่อาคารสาธารณะเป็นหลัก ในการก่อสร้างอาคารที่ผิดแบบหรือมีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานอาคาร แต่มีความปลอดภัยผู้ตรวจสอบอาคารก็ไม่มีหน้าที่จะต้องรายงานในการตรวจสอบอาคารเว้นเสียแต่ว่าการดัดแปลงต่อเติมอาคารนั้นก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานอาคาร สำหรับในส่วนนี้จะกล่าวถึงการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยการพิจารณาจากลักษณะของรอยร้าวที่เกิดจากวัสดุเสื่อมสภาพและจากโครงสร้างรับน้ำหนักเกินกำลังเท่านั้น

วัตถุประสงค์หลักของการตรวจสอบอาคาร
- เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งานอาคาร
- เพื่อหาวิธีป้องกันและการแก้ไขปัญหา

รายการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร
ซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญต่างๆ ดังนี้
- ส่วนการต่อเติมดัดแปลงปรับปรุงตัวอาคาร
- ส่วนการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบรรทุกบนพื้นอาคาร
- ส่วนการเปลี่ยนสภาพการใช้อาคาร
- ส่วนการเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่งอาคาร
- ส่วนการชำรุดสึกหรอของอาคาร
- ส่วนการวิบัติของโครงสร้างอาคาร



ประเภทของอาคารที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ
คือเป็นอาคารที่การก่อสร้างได้ดำเนินการแล้วเสร็จหรือได้รับใบรับรองตามมาตรา 32 มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี จำนวน 9 ประเภท ดังนี้
1. อาคารสูง ตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป
2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตรม.
3. อาคารชุมนุมคน ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตรม. หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
4. โรงมหรสพ
5. โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป
6. สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตรม.ขึ้นไป
7. อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตรม.ขึ้นไป
8. อาคารโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีความสูงมากกว่าหนึ่งชั้น และมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 5,000 ตรม.ขึ้นไป
9. ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 ม.ขึ้นไป หรือมีพื้นที่
ตั้งแต่ 50 ตรม. ขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 20 ตรม. ขึ้นไป

การตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. การตรวจสอบใหญ่
เป็นการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามรายละเอียดที่กำหนดให้กระทำทุกระยะเวลาห้าปีในการตรวจสอบใหญ่ทุกครั้ง ผู้ตรวจสอบต้องจัดให้มี แผนปฏิบัติการการตรวจบำรุงรักษาอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร รวมทั้งคู่มือปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวให้แก่เจ้าของอาคารเพื่อเป็นแนวทางการตรวจบำรุงรักษาและการบันทึกข้อมูลการตรวจบำรุงรักษาอาคาร และต้องจัดทำแผนการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปีรวมทั้งแนวทางการตรวจสอบตามแผนดังกล่าวให้แก่เจ้าของอาคาร เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปี

2. การตรวจสอบประจำปี
เป็นการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามแผนการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารประจำปีที่ผู้ตรวจสอบได้จัดทำขึ้น โดยให้กระทำในช่วงปีระหว่างการตรวจสอบใหญ่เป็นประจำทุกปี

ลักษณะการตรวจสอบรอยร้าวอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
โดยแบ่งตามลักษณะของรอยร้าวที่เกิดขึ้นมีอยู่สามลักษณะหลักๆ ดังนี้
ลักษณะรอยร้าวที่เกิดจากวัสดุเสื่อมคุณภาพ
ลักษณะรอยร้าวที่เกิดจากโครงสร้างรับน้ำหนักเกินกำลัง
ลักษณะรอยร้าวที่เกิดจากฐานรากทรุดตัว
แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงลักษณะรอยร้าวที่เกิดจากวัสดุเสื่อมคุณภาพและลักษณะรอยร้าวที่เกิดจากโครงสร้างรับน้ำหนักเกินกำลังที่ได้ทำการออกแบบไว้




รูปแบบลักษณะรอยร้าวที่เกิดจากวัสดุเสื่อมคุณภาพ
รอยร้าวชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นที่ผิวของคอนกรีต หรือเนื้อคอนกรีตส่วนที่หุ้มเหล็กเสริม รอยแตกร้าวไม่ลึกถึงแกนกลางของโครงสร้าง ซึ่งสามารถจำแนกได้สองแบบ คือ
1. แตกร้าวเฉพาะที่ผิวของคอนกรีต เป็นผลมาจากคอนกรีตเสื่อมสภาพของคอนกรีต เกิดการยืดหดตัว การถูกกัดเซาะจากสารเคมีหรือสิ่งแวดล้อมที่มีซัลเฟตมาก ลักษณะการแตกร้าวเช่นนี้มักจะเกิดเป็นกลุ่มๆ หรือเป็นย่อมๆ หรืออาจจะเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างที่มีลักษณะเป็นลายงา รูปดาว เป็นตาข่ายใยแมงมุม หรือเป็นริ้วๆ รูปแบบรอยร้าวจะไม่แน่นอนซึ่งเมื่อกะเทาะผิวคอนกรีตตรงบริเวณที่มีรอยร้าวออกจะพบว่ารอยร้าวเข้าไม่ถึงแก่นกลางของคอนกรีตบริเวณนั้น เว้นแต่รอยร้าวที่เกิดจากการกัดเซาะของซัลเฟตหรือสารเคมีเป็นเวลานานที่อาจทำให้คอนกรีตยุ่ยและแตกร้าวทะลุถึงแกนกลางได้
ตัวอย่างรอยร้าวที่เกิดจากวัสดุเสื่อมคุณภาพ เช่น รอยแตกลายงาที่บริเวณผนัง สาเหตุเกิดจากปูนฉาบสูญเสียน้ำหรือน้ำระเหยจากปูนฉาบเร็วไปเพราะอิฐดูดซับน้ำหรือเพราะอุณหภูมิภายนอกสูงและไม่มีการบ่มคอนกรีตที่ดี
2. แตกร้าวลึกจนถึงเหล็กเสริม สาเหตุเกิดจากเหล็กเสริมคอนกรีตเป็นสนิมซึ่งเนื่องจากคอนกรีตที่หุ้มเหล็กเสริมมีความหนาน้อยเกินไป หรืออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีความเข้มข้นของคลอไรด์สูง หรืออยู่ในสภาพที่ชุ่มน้ำแล้วแห้งสลับกันทำให้เหล็กสัมผัสความชื้นจนเกิดปฏิกิริยาอ๊อกซิเดชั่น เมื่อเหล็กเป็นสนิมแรงยึดเกาะระหว่างเหล็กและคอนกรีตจะลดลงเกิดการบวมตัวของเหล็กจนทำให้คอนกรีตที่หุ้มเหล็กตรงบริเวณที่เป็นสนิมนั้นกะเทาะหลุดล่อนออก โดยทั่วไปรอยร้าวชนิดนี้เมื่อเกิดระยะแรกๆ จะเป็นรอยแตกตามยาวขนานกับเหล็กเสริม มักจะพบมากบริเวณท้องพื้น มุมเสา และท้องคานที่สัมผัสความชื้นบ่อยๆ

รูปแบบลักษณะรอยร้าวที่เกิดจากโครงสร้างรับน้ำหนักเกินกำลัง
เมื่อโครงสร้างอาคารรับน้ำหนักบรรทุกเกินกำลังจะทำให้เกิดการแอ่นตัว ทำให้เกิดรอยแตกร้าวซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดบริเวณช่วงกลางของโครงสร้างที่รับน้ำหนักบรรทุกนั้น ซึ่งสามารถจำแนกรอยแตกร้าวลักษณะนี้ได้ตามชิ้นส่วนของโครงสร้างอาคาร ดังนี้
1. คาน เพราะถ้าหากคานมีขนาดเล็กเกินไป หรือรับน้ำหนักบรรทุกมากเกินกำลังจะทำให้เกิดการแอ่นตัวมากจนเกิดรอยร้าว ซึ่งตำแหน่งการเกิดรอยร้าวดังกล่าวมีลักษณะดังนี้
- ช่วงบริเวณกลางคาน รอยแตกร้าวจะเกิดขึ้นที่ใต้ท้องคานบริเวณช่วงกึ่งกลางความยาวมีลักษณะเป็นรูปตัวยู คือแตกจากด้านล่างและต่อเนื่องขึ้นในแนวดิ่งทั้งสองด้านของคาน ถ้าหากสังเกตตรงตำแหน่งรอยแตกจะพบว่าด้านล่างจะแตกกว้างกว่าด้านข้าง นั่นแสดงว่าตำแหน่งที่เริ่มแตกร้าวจะเกิดขึ้นจากใต้ท้องคาน เมื่อคานแอ่นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ รอยร้าวก็จะเกิดเพิ่มขึ้นหลายแนวขนานกัน มีลักษณะเป็นปล้องๆ รอยแตกที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเพิ่มเป็นคู่ๆ ขนาบรอยแตกที่เกิดเริ่มแรก
- ช่วงปลายคาน รอยแตกร้าวจะเกิดขึ้นที่ด้านบนและแตกร้าวลงด้านข้างของคานซึ่งอาจเป็นได้ทั้งแนวดิ่งและแนวเฉียง ซึ่งเมื่อปลายข้างหนึ่งของคานเกิดการแตกร้าวปลายอีกด้านหนึ่งก็มักจะเกิดการแตกร้าวในลักษณะเดียวกันด้วย โดยทั่วไปแล้วรอยร้าวที่ปลายคานจะเกิดขึ้นภายหลังจากเกิดรอยร้าวที่กลางคานอละมักจะเกิดเนื่องจากคานแอ่นตัวมาก
ดังนั้นเมื่อพบว่ากลางคานเริ่มเกิดรอยร้าวควรรีบดำเนินการแก้ไขก่อนที่ปลายคานเกิดการแตกร้าวตามไปด้วย
2. พื้น สำหรับพื้นเมื่อแบกรับน้ำหนักมากเกินไปจะเกิดการแอ่นตัวและมีรอยแตกร้าวตามตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
- บริเวณท้องพื้น ถ้าหากเป็นคอนกรีตหลอในที่ชนิดเสริมเหล็กสองทาง(Two-way Slab)
จะเกิดรอยแตกที่ท้องพื้นช่วงกลาง รอยแตกร้าวจะมีลักษณะเฉียงจากบริเวณกึ่งกลางพื้นเข้าหาเสาทั้งสี่มุม และหากเป็นคอนกรีตหลอในที่ชนิดเสริมเหล็กทางเดียว(One-way Slab) จะเกิดรอยแตกร้าวที่กลางท้องพื้นมีลักษณะตั้งฉากกับแนวเหล็กเสริม
- บริเวณขอบพื้น จะเกิดรอยแตกร้าวที่บริเวณขอบคานทั้งสี่ด้านและที่มุมเสา
3. เสา เมื่อเสารับน้ำหนักบรรทุกไม่ไหวจะเกิดการโก่งเดาะ คอนกรีตช่วงกลางเสาจะระเบิดออกและเหล็กเสริมหักงอ ก็จะทำให้เกิดรอยแตกร้าวบริเวณด้านที่โก่งออก เพราะเป็นด้านที่รับแรงดึง ส่วนด้านที่โค้งเข้ารับแรงอัดจะมีรอยแตกร้าวจะมีลักษณะเป็นปล้องๆ แนวนอน ซึ่งลักษณะการแตกร้าวของเสาและแนวเหล็กเสริมที่บิดงอเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยในการวิเคราะห์หาสาเหตุได้ดี ตัวอย่างเช่น
- เสาที่แตกร้าวเป็นปล้องๆ ในแนวนอนและเกิดเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรือคอนกรีตแตกออกจนเห็นเหล็กเสริมหลักซึ่งทั้งหมดมีลักษณะบิดงอไปในทางเดียวกัน ลักษณะเช่นนี้เป็นเพราะมีโครงสร้างส่วนอื่นดึง ทำให้เกิดการโน้มเอียงหรือเป็นเพราะเสาต้นนั้นมีความสูงชะลูดมากเกินไปจนทำให้เกิดการโก่งงอ
- คอนกรีตบริเวณแกนกลางเสาแตกระเบิดออก เหล็กเสริมหลักทุกเส้นหักงอเป็นรูปตัววี แสดงว่าคอนกรีตในช่วงดังกล่าวไม่สามารถรับน้ำหนักได้และส่วนมากจะเกิดจากคอนกรีตขาดความต่อเนื่อง
เหล็กเสริมรับแรงอัดไม่ได้จึงหักงอ
4. ผนัง กรณีโครงสร้างหลักรับน้ำหนักบรรทุกมากเกินไปก็จะส่งผลให้ผนังที่อยู่ติดกับโครงสร้างนั้นแตกร้าวไปด้วย เช่น เมื่อคานเกิดการแอ่นตัวผนังที่อยู่ใต้คานจะถูกกดทับทำให้เกิดรอยแตกร้าวแนวดิ่งที่กลางผนัง ซึ่งถ้าหากสังเกตเห็นผนังแตกร้าวในลักษณะนี้ก็ควรจะพิจารณาสภาพการแอ่นตัวของคานด้วย

การตรวจติดตามรอยร้าว
จากการตรวจสอบตำแหน่งและลักษณะรอยร้าวแล้ว ก็จะมีช่วงของการตรวจวัดและติดตามลักษณะรอยร้าวซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ทราบว่าโครงสร้างของอาคารยังมีการขยับตัวหรือไม่ งานแก้ไขอาคารที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานรากหรือโครงสร้างส่วนอื่นก็จะอาศัยข้อมูลจากการตรวจวัดและติดตามลักษณะรอยร้าวนี้ว่างานแก้ไขนั้นได้ผลดีมากน้อยเพียงใด การตรวจวัดและติดตามลักษณะรอยร้าวมีวิธีการง่ายๆ ดังนี้
1. ใช้ปากกาหรือดินสอขีดคร่อมรอยร้าว โดยให้เส้นที่ขีดตั้งฉากกับรอยร้าวแล้ววัดความยาวของเส้นที่ขีด พร้อมจดบันทึกและลงวันที่ การทำเช่นนี้จะทำให้การตรวจวัดภายหลังทราบว่ารอยแตกนั้นกว้างขึ้นหรือมีการเลื่อนไถลจากเดิมหรือไม่ ซึ่งถ้าหากเป็นรอยร้าวในแนวเฉียงที่ผนังที่เกิดจากฐานรากทรุดตัวไม่เท่ากัน รอยแตกร้าวที่เกิดเพิ่มขึ้นมักจะมีลักษณะเลื่อนเฉือนตามแนวนอนของรอยแตกเดิม ทำให้เส้นที่ขีดคร่อมรอยร้าวไว้เหลื่อมจากกันไม่อยู่ในแนวเส้นตรงเดิม
2. ใช้ปากกาหรือดินสอขีดกั้นที่ปลายของรอยร้าว พร้อมบันทึกวันที่ที่ทำเครื่องหมายไว้ หากมีการแตกร้าวเพิ่มขึ้นรอยร้าวจะยาวเกินเส้นที่ขีดไว้
3. ใช้แผ่นกระจกหนาประมาณ 2 มม. ติดคร่อมรอยร้าวในแนวตั้งฉากกับรอยร้าวโดยติดกาวที่แผ่นกระจกทั้งสองข้างของรอยร้าว ก่อนติดกระจกควรใช้กระดาษทรายขัดผิวปูนบริเวณรอยร้าวให้เรียบและสะอาดก่อนเพื่อกระจกจะได้ติดแน่นไม่หลุดล่อนในภายหลัง เมื่อติดกระจกแล้วทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วกระจกแตกแสดงว่ามีการขยับตัวแตกร้าวเพิ่ม
4. ใช้แผ่นสเกลตรวจวัด ติดคร่อมรอยร้าวแผ่นตรวจวัดพิเศษที่ว่านี้ประกอบด้วยแผ่นพลาสติกสองแผ่นที่เลื่อนออกจากกันได้ บนแผ่นพลาสติกแต่ละแผ่นมีสเกลวัดระยะความยาวและวัดมุม เมื่อรอยร้าวเพิ่มขึ้นแผ่นพลาสติกจะเลื่อนหลุดจากกัน สามารถวัดความกว้างของรอยร้าวและระยะเลื่อนบิดของรอยแตกที่เพิ่มขึ้นได้

การแก้ไขปัญหาการแตกร้าวของอาคาร
จากการที่ได้ทำการตรวจสอบรอยร้าวและทราบสาเหตุแล้วว่าเกิดจากสาเหตุใด ก็ทำการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุก่อน แล้วจึงจะค่อยซ่อมแซมรอยร้าว การแก้ไขการแตกร้าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี ดังนี้

กรณีรอยร้าวที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของวัสดุ
สามารถทำการซ่อมแซมโดยการกะเทาะคอนกรีตที่ปิดผิวเหล็กบริเวณที่แตกออกแล้วเทคอนกรีตหรือฉาบปูนปิดทับใหม่ การกะเทาะผิวคอนกรีตต้องกระทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้เข้าลึกลงไปในเนื้อคอนกรีตที่อยู่ภายในเหล็กเสริม และคอนกรีตที่ใช้ควรใส่น้ำยาประสานเพื่อให้คอนกรีตใหม่และคอนกรีตเก่าประสานกันได้ดี หรืออาจใส่น้ำยากันซึมในกรณีที่ผิวคอนกรีตต้องสัมผัสกับน้ำ หากเป็นร่องคอนกรีตที่ต้องมีการเทหรือหยอดคอนกรีตเข้าไปลึกๆ ควรใช้คอนกรีตที่ไม่หดตัวเมื่อแข็งตัว(Nonshrink concrete) มิฉะนั้นจะเกิดรอยร้าวที่ตำแหน่งเดิมได้อีก

กรณีรอยร้าวที่เกิดจากโครงสร้างรับน้ำหนักเกินกำลัง

ในกรณีรอยร้าวที่เกิดจากโครงสร้างรับน้ำหนักเกินกำลัง ควรดำเนินการแก้ไขตามลำดับดังนี้
- เสริมโครงสร้างให้มีความแข็งแรงเพียงพอ ก่อนที่จะซ่อมแซมหรือปิดรอยร้าวต้องเสริมกำลังโครงสร้างให้มีความแข็งแรงเพียงพอก่อน การเสริมโครงสร้างทำได้โดยการใช้เหล็กรูปพรรณหรือวัสดุอื่นที่มีความแข็งแรงเพียงพอมาหนุนเพิ่มกำลังให้กับโครงสร้างนั้นๆ
- ตรวจติดตามรอยร้าว ภายหลังจากการเสริมกำลังโครงสร้างแล้วทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อตรวจติดตามรอยแตกร้าวว่ายังเกิดเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ หากไม่เกิดเพิ่มขึ้นจึงค่อยซ่อมแซมรอยร้าวได้
- ซ่อมแซมรอยร้าว การซ่อมแซมรอยร้าวก็สามารถกระทำการตามขั้นตอนเหมือนกับการซ่อมแซมรอยร้าวที่เกิดจากวัสดุเสื่อมสภาพ แต่สำหรับโครงสร้างหลัก เช่น คาน เสาและพื้น หากมีรอยแตกร้าวลึกลงถึงแกนคอนกรีต(ลึกเกินเหล็กเสริม) ควรใช้วิธีอัดฉีดด้วยสารเคมี(Chemical grout) เพื่อประสานเนื้อคอนกรีตให้มีความแข็งแรง

สรุป
การตรวจสอบอาคารเพื่อทำให้ผู้ใช้งานอาคารมีความมั่นใจในความปลอดภัยของอาคารมากขึ้นและเพื่อช่วยทำให้โครงสร้างของอาคารมีประสิทธิภาพในการใช้งาน

อ้างอิงแหล่งข้อมูล
ธเนศ วีระศิริ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย: คู่มือตรวจสอบรอยร้าว
กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย : กฎหมายการตรวจสอบอาคาร